พระราชทาน อภัยโทษ ใครบ้างที่ยู่ในเงื่อนไข ?
เงื่อนไขแรกของผู้ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษคือ ต้องมีตัวอยู่ในความควบคุมของทางราชการ หรือถูกกักขังไว้ในสถานที่หรือที่อาศัยที่ศาลหรือทางราชการกําหนดในวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ไปจนถึงวันที่ศาลออกหมายสั่งปล่อยหรือลดโทษ เนื่องในโอกาสแรกนับแต่ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ เพื่อเป็นการแสดงพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมควรพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์เพื่อให้โอกาสแก่บุคคลเหล่านั้นกลับประพฤติตนเป็นพลเมืองดี อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป
ทั้งนี้เนื้อหาในการตราพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษเนื่องในโอกาสแรกนับแต่ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2559 ของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เหมือนกับพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ พ.ศ. 2559 เนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี 9 มิถุนายน 2559 และในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559 ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ที่ผ่านมา
ประเภทของการพระราชทาน อภัยโทษ
ตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ ฯ นี้ ได้กำหนดประเภทการพระราชทานอภัยโทษไว้ 2 อย่าง คือ การปล่อยตัว และ การลดโทษ โดยกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัวและการลดโทษไว้ตามประเภทของความผิด และลำดับชั้นของนักโทษ
พระราชทาน อภัยโทษ “ปล่อยตัว”
ในมาตรา 6 ได้กำหนดลักษณะของผู้ที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษ “ปล่อยตัว” ไว้ทั้งหมด 7 กรณี คือ
1. ผู้ต้องโทษจำคุกที่เหลือโทษอีกไม่เกิน 1 ปี และรับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3
กรณี “ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์” ผู้ต้องขังคดีรื้อบาร์เบียร์ ที่ต้องโทษจำคุก 2 ปี จะเข้าเงื่อนไขได้รับพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัวตามข้อนี้ โดยนายชูวิทย์ เริ่มรับโทษตามคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อวันที่ 29 มกราคม ที่ผ่านมา และได้รับพระราชทานอภัยโทษด้วยการ “ลดโทษ” ตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2559 เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ครั้งนั้นนายชูวิทย์ได้รับการลดโทษ 1 ใน 4 ของโทษทั้งหมดเพราะเป็นนักโทษชั้นดี นั่นคือลดโทษไป 6 เดือน ดังนั้นโทษกักขังของนายชูวิทย์ในตอนนี้จึงเหลือไม่เกิน 1 ปี เข้าตามเงื่อนไขนี้
2. เป็นคนพิการโดยตาบอดทั้งสองข้าง มือหรือเท้าด้วนทั้งสองข้าง หรือเป็นคนทุพพลภาพ
3. เป็นคนเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อน โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง(โรคเอดส์) หรือโรคจิต ซึ่งทางราชการได้ทําการรักษามาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน และแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่า 2 คนได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าไม่สามารถจะรักษาในเรือนจําให้หายได้ และได้รับโทษจําคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ของโทษ เว้นแต่เป็นคนเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้าย และโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์) ระยะสุดท้ายซึ่งแพทย์ของทางราชการไม่น้อยกว่า 2 คนได้ตรวจรับรองเป็นเอกฉันท์ว่าไม่สามารถจะรักษาในเรือนจําให้หายได้
4.เป็นหญิงซึ่งต้องโทษจําคุกเป็นครั้งแรก และได้รับโทษจําคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ของโทษ
5.อายุไม่ต่ำกว่า 60 ปีบริบูรณ์ และต้องได้รับโทษจําคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของโทษ และมีโทษจําคุกเหลืออยู่ไม่เกิน 3 ปี
6.เป็นผู้ต้องโทษจําคุกเป็นครั้งแรก และมีอายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ และได้รับโทษจําคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 2 ของโทษ
7. เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นเยี่ยม และเหลือโทษจำคุกอยู่ไม่เกิน 2 ปี
พระราชทาน อภัยโทษ “ลดโทษ”
สำหรับนักโทษที่ไม่เข้าเกณฑ์ได้รับพระราชทานอภัยโทษโดยปล่อยตัว จะได้รับการลดโทษ ซึ่งประกอบไปด้วยนักโทษในคดีทั่วไป นักโทษตามบัญชีลักษณะความผิดท้ายพระราชกฤษฎีกา และนักโทษในคดียาเสพติดทั้งที่ต้องโทษจำคุกไม่เกิน 8 ปี และเกิน 8 ปี โดยในส่วนโทษประหารชีวิตจะลดลงเหลือจำคุกตลอดชีวิต และโทษจำคุกตลอดชีวิตจะลดลงเหลือจำคุก 50 ปี เหมือนกัน นอกจากนั้นจะเป็นการลดโทษตามลำดับชั้นนักโทษคือ นักโทษชั้นเยี่ยม ชั้นดีมาก และ ชั้นดี ซึ่งเงื่อนไขการลดโทษจะแตกต่างกันไปตามประเภทนักโทษและประเภทความผิด
ใครไม่อยู่ในข่ายได้รับพระราชทาน อภัยโทษ ?
ผู้ไม่อยู่ในข่ายได้รับพระราชทานอภัยโทษ กำหนดไว้ใน มาตรา 12 และ มาตรา 14 มี 5 กรณีคือ
1.ผู้ต้องโทษให้จำคุกเกิน 8 ปีในคดียาเสพติดซึ่งศาลพิพากษาภายหลังจากพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ใช้บังคับ
2.นักโทษที่ทำความผิดซ้ำและไม่ใช่นักโทษชั้นเยี่ยม
3.นักโทษชั้นกลาง ชั้นเลว หรือชั้นเลวมาก
4.นักโทษความผิดเกี่ยวกับเพศ กรณีข่มขืนกระทำชำเรา ข่มขืนฆ่า
5.นักโทษในคดีฉ้อโกงประชาชน
ผู้มีเข้าข่ายได้รับพระราชทาน อภัยโทษ มากน้อยแค่ไหน?
นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ คาดว่าจะมีผู้ต้องโทษที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษและได้รับการปล่อยตัวประมาณ 30,000 คนเศษ โดยคาดว่าจะสามารถปล่อยตัวผู้ต้องขังที่ได้รับการอภัยโทษล็อตแรกได้ภายใน 3 วันนี้ ยินดีกับผู้ต้องขังด้วยนะ เป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น
Cr.ข่าวกรุงเทพธุรกิจ
No comments:
Post a Comment